ค้นหาบ้าน คอนโด ที่ดินฯลฯ ตรงใจ

พิมพ์คำค้นหาที่ต้องการ เช่น ทำเล ชื่อโครงการ

สูงวัยใจเกินร้อย

สูงวัยใจเกินร้อย

หากคิดที่จะเป็นสูงวัยใจเกินร้อย...

หลายคนชอบพูดว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” แต่อันที่จริงมันก็เป็นตัวเลขที่น่ากลัวนะ เพราะเมื่อมันแตะๆเลข 5 นี่ เราจะพบว่าร่างกายมันมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก 
อย่างแรกที่บอกว่าแก่ลงแน่ๆคือ สายตามันจะเริ่มฟ้อง แต่สิ่งที่อาจจะไม่ได้สังเกตก็คงจะเป็นเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงความสามารถในการทำงานของหัวใจ
โดยเฉพาะ Max.HR จะลดลงกว่าในวัยหนุ่ม ( ยกเว้นคนที่ออกกำลังกายมาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะพบว่า Max.HR ลดลงไปช้ากว่าคนที่อายุเท่ากันแต่ไม่ได้ออกกำลังกาย )

Body mass index   เคยคำนวณ BMI กันบ้างไหม ?
BMI หรือ Body mass index เป็นผลลัพธ์ของการเอาน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกก.) หารด้วย ส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร ) 
ผมเองปีนี้ก็ย่าง 56 แล้ว น้ำหนักตัว 58.8 กก. สูง 1.66 เมตร คำนวณ BMI = 58.8 / 1.66^2 = 21.34 กก./ตารางเมตร 
แล้ว BMI มันมีช่วยแปลผลอะไร
เราพบกันว่าค่า BMI มีความสัมพันธ์กับกลุ่มโรค NCD ( Non-communicated disease ) 4 โรคหลัก คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง 
แต่การแปลผลของค่า BMI มีความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์กันพอสมควร เคยมีการศึกษาในคนญี่ปุ่นและคนสิงคโปร์ซึ่งน่าจะเทียบเคียงเผ่าพันธุ์ได้ใกล้เคียงกับคนไทย 
สรุปถึงความสัมพันธ์ของค่า BMI กับความเสี่ยงต่อกลุ่ม โรค NCD ดังนี้ตามตารางBMI ในภาพแรก



ทำไมชาวสว.ถึงเป็นกลุ่มเสี่ยง ? 
ไม่ใช่ว่า ชาวสว.ทุกคนหรอกนะ แต่สาเหตุการตายที่พบบ่อยในชาวสว.ในขณะออกกำลังกายมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวแทบจะทั้งสิ้น หัวใจล้มเหลวส่วนใหญ่ก็มักจะมีสาเหตุนำมาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
แน่นอนครับปัญหาก็คือ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมันไม่สมบูรณ์ มันอาจจะตีบ อาจจะตันนิดๆหน่อย ในยามปกติก็อาจจะไม่มีอาการอะไร แต่มันจะไม่เพียงพอในภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากๆ
ชาวสว.หลายคนหันมาออกกำลังกายเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว อาจจะพอรู้ว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก่อน แต่ก็ยังมีบางท่านที่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้กันเท่าไหร่ เห็นเพื่อนๆในวัยเดียวกัน 
ชวนมาปั่นจักรยานก็เลยโดดเข้ามาร่วมกระบวนการสองล้อท้าสายลมและแสงแดดตามกลุ่มเพื่อนไป จึงมีโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะหักโหมจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่ายๆ
 
แพ้ไม่เป็น !!!
ไม่มีใครที่ชนะตลอดกาลยันนิรันดร์หรอกนะครับ เราแพ้สังขารครับ แต่เพราะใจเราไม่ยอมรับ ความรู้สึกว่า ”แพ้ไม่เป็น” จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สว.หลายท่านต้องมาประสบเคราะห์กรรมกันในสนามจักรยาน 
เรื่องชาวสว.เสียชีวิตในขณะปั่นจักรยานไม่ว่าจะในสนามแข่งขัน ใน SkyLane หรือ ล่าสุดในงานปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ ก็มักจะมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งแน่นอนครับ ภาวะซ่อนเร้นที่นึกไม่ถึง โรคเดิมที่เป็นอยู่ ก็ล้วนแต่เป็นผู้ร้ายหลังฉากทั้งสิ้น
ความเสื่อมของสังขารร่วมกับการละเลยในสังขารก็ล้วนส่งเสริมให้ความรู้สึก ”แพ้ไม่เป็น” มาสร้างเรื่องเศร้าให้เราท่านได้ยินได้ฟังกันเป็นระยะ

อยากจะเป็นสูงวัยใจเกินร้อย หรือ ฒ.ผู้เฒ่าห้าวเป้ง แล้วไม่เป็นภาระลูกหลาน
1. พบแพทย์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ ตรวจสุขภาพครั้งสุดท้ายเป็นอย่างไรบ้าง เช็คกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด
2. Exercise Stress Test ( EST )หรือ ที่เรียกกันแบบบ้านๆว่า “วิ่งสายพาน” เป็นวิธีการตรวจสภาพการทำงานของหัวใจในขณะออกกำลังกายได้ดีมากวิธีหนึ่ง 
เพราะเมื่อหัวใจเริ่มทำงานหนักขึ้นๆ แพทย์หัวใจที่ทำการทดสอบจะสามารถบอกความผิดปกติได้จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจทีเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยถ้ามันผิดปกติในขณะออกกำลังกาย 
มันก็ยังอยู่ต่อหน้าแพทย์ที่มีความชำนาญ ดีกว่าไปเกิดในขณะปั่นจักรยานหรรือเล่นกีฬาชนิดอื่นๆกับเพื่อนๆ


3. จักรยานราคาเป็นหมื่นซื้อได้ แล้ว HRMราคาไม่แพงเลยนั้น ทำไมไม่หามาใช้กันครับ HRM เป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มาก เพราะถ้าชาวสว.ได้เคยไปทำ EST 
ท่านจะทราบเลยว่า อัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายนั้นควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ และสำหรับผู้ไม่เคยทำ EST มาเลย HRM ก็ยังเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่างน้อยก็ไม่ควรจะดึงดันให้หัวใจเต้นเร็วไปกว่า 90%MHR 
แล้วสำหรับท่านที่เริ่มรู้สึกว่าเหนื่อยจนอึดอัด ไม่สบาย ท่านก็ยังสามารถรู้เพดานสูงสุดว่า HR เท่าไหร่ที่เริ่มมีอาการ ก็อย่าเข้าไปอยู่ในโซนนั้น


4. หัดยอมแพ้บ้าง สว.ใจเกินร้อยที่ออกกำลังกายมาอย่างต่อเนื่องนั้น ยังไงๆก็สู้คนหนุ่มสาวที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่า ความ”อึด” หรือ Endurance รวมไปถึง Aerobic Capacity 
จะยังคงสามารถรักษาไว้ได้ แต่ !!! Maximum Oxygen consumption ( VO2max ) รวมไปถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จะย่อมลดลงไปตามอายุ 
ชาวสว.ที่ฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยหนุ่มหรือวัยกลางคนก็ตาม ก็ยังอาจพบว่า Aerobic capacityไม่ได้ด้อยกว่าคนหนุ่มสาวเลย จึงไปไหนไปกันได้ แต่ในเวลาที่หนุ่มสาวเขาห้าวเป้ง 
ชิงชัยตะบี้ตะบันกัน ตรงนั้นเราชาวสว.ก็ควรจะเหลือบมาดูตัวเองบ้างว่า HR เราขึ้นไปถึงไหนแล้ว เรายังจะอยู่ตรงนั้นได้นานแค่ไหน สำนึกมากๆหน่อยนะครับ ไม่งั้นเขาคงจะไม่แบ่ง ”รุ่นอายุ” กันอย่างแน่นอน ดังนั้นพึงสำนึกทุกครั้ง ถ้าท่านจะต้อง ”แช่” ที่โซนสูงๆนานๆ
5. รู้ตัวว่าสู้ไม่ได้บ้าง สว.ใจเกินร้อยที่ไม่ใช่นักกีฬา ไม่ใช่คนที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง แต่มาออกกำลังกายตามเพื่อน แล้วก็ยังมีปัญหาห้อยตามเป็นหางว่าว ไม่ว่าน้ำหนักเกิน เบาหวาน ไขมัน ความดัน 
ต้องรู้ตัวเองนะครับว่า ท่านไม่มีทางสู้คนอื่นที่เขาสุขภาพดีกว่าได้ เพราะสุดท้ายท่านจะแพ้ภัยตัวเอง สร้างเรื่องทุกข์ใจให้ลูกหลานโดยประมาท
6. มีสติและสัมปชัญญะ ชาวสว.มักจะมีปัญหาเรื่องระบบระบายความร้อนของร่างกาย ขาดน้ำได้โดยง่าย ความรู้สึกกระหายน้ำมาช้า ในช่วงที่อากาศร้อนมหาโหดที่กำลังจะมาเยือนเร็วๆนี้ การดื่มน้ำให้เพียงพอ 
และการเฝ้าระวังโดยการให้ความใส่ใจกับ HRM จะเป็นเรื่องที่สามารถลดความเสี่ยงลงได้ นอกจากนั้นชาวสว.ยังมีปัญหาเรื่องกระดูกบาง เปราะ หักง่าย หากท่านไม่ได้มีทักษะในการบังคับควบคุมจักรยานที่ดีพอ 
ก็ไม่ควรพาตัวเข้าไปในภาวะเสี่ยงนะครับ ทางโค้งก็ดี ทางลงเขาก็ดี เห็นเขาเข้าโค้ง สาดโค้งกัน ก็ย่ามใจตามเขาเข้าไป แบบนี้ก็ต้องใช้สติมากๆหน่อยนะครับ
 
สุดท้ายนะครับ สูงวัยไม่ได้แปลว่าแก่เฒ่า อยู่กับมัน รู้ทันมัน มีสติกับมัน เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของมัน ก็สามารถปั่นจักรยานอย่างมีความสุขได้เสมอ
 
Cr : Lucifer cyclingplusthailand,เพจTC100@Charity by Srisanun Nuthcaya,คุณวุฒินทร ถนอมวงศ์,ภาพประกอบGOOGLE


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง